กุศลและอกุศล
"ธรรม" คือ สภาวะความเป็นจริง การเกิดขึ้นหรือมีอยู่ของสภาวะความเป็นจริงเรียกว่า "ธรรมชาติ" ส่วน ธรรมะ หรือ หลักธรรม หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ทรงตรัสสอนเกี่ยวกับสภาวะความเป็นจริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรานั่นเอง
ธรรม แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ อกุศลธรรม และ กุศลธรรม ดังนี้
อกุศลธรรม
อกุศลธรรม คือ สิ่งที่กีดขวางความเจริญของจิตใจและปัญญา เช่น กิเลส หมายถึงความหม่นหมองแห่งจิตใจและสิ่งที่ทำให้จิตเกิดความเศร้าหมองขึ้น หากแบ่งออกเป็น ๑๐ อย่าง (กิเลสวัตถุ 10) จักได้แก่
- โลภะ ความอยากได้
- โทสะ ความคิดประทุษร้าย
- โมหะ ความหลง
- มานะ ความถือตัว
- ทิฏฐิ ความเห็นผิด
- วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
- ถีนะ ความหดหู่
- อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
- อหิริกะ ความไม่ละอายบาป
- อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวบาป
สิ่งที่จะบ่งบอกว่าอะไรบ้างเป็น อกุศล แบ่งออกเป็นสามตัวชี้วัด คือ อะกุสะลัง คือไม่เป็นกุศล (ไม่เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะประโยชน์ต่อความงอกงามแห่งจิตใจ) , สาวัชชะ คือมีโทษ และ ทุกขวิปาก คือ ทำให้เป็นทุกข์ หากครบถ้วนทั้งสามข้อนี้ ถือว่าเป็น อกุศล
นอกจากกิเลส ๑๐ อย่างแล้ว อกุศลธรรม ยังแบ่งออกได้อีกหลายลักษณ์ ดังที่ปรากฎในไพ่ "ธรรมอะไร" ดังต่อไปนี้
อุปกิเลส คือสภาวะที่ทำให้จิตใจติดลบ เศร้ามอง และมืดมัว
โลภ
คิดลบ
หงุดหงิด
แค้นเคืองใจ
ลบหลู่พระคุณ
การตีตัวเสมอและอยากมีคุณค่า
ความอิจฉาและการเปรียบเทียบ
ความตระหนี่หวงแหน
ความเจ้าเล่ห์
ความโอ้อวด
ยึดถือความคิดเห็นของตน
มุ่งเอาชนะ
ความถือตัวและเย่อหยิ่ง
ดูหมิ่นดูแคลน
ความหลงเพลิดเพลิน
ความประมาทเลินเล่อ
อุปทาน คือความยึดมั่น ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส ความยึดติดอันเนื่องมาแต่อยาก และการผูกพันโดยเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง
ติดสวยงาม
ติดความคิดความเห็น
ติดดีและศีลธรรม
ติดตัวตนและคุณค่า
กุศลธรรม
หมายถึงธรรมอันดีงามหรือสภาวะอันดีงามซึ่งส่งเสริมความงอกงามแห่งจิตใจ กุศล แปลว่าประโยชน์หรือเกิดประโยชน์ สิ่งใดๆ ก็ตามที่ทำแล้วมีคุณค่า สิ่งเหล่านั้นเรียกว่าเป็นกุศล ธรรมหรือสภาวะความเป็นจริงในตัวเราที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่น เกิดจากความมีประโยชน์ เกื้อกูลด้วยความมีประโยชน์ เหล่านั้นเรียกว่าเป็นกุศลธรรม
"ธรรมเหล่าหนึ่งเหล่าใดเป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด
มีกุศลเป็นเหตุหรือ ฯลฯ
มีกุศลเป็นนิทานหรือ ฯลฯ
มีกุศลเป็นแดนเกิดพร้อมหรือ ฯลฯ
มีกุศลเป็นแดนเกิดทั่วหรือ ฯลฯ
มีกุศลเป็นสมุฏฐานหรือ ฯลฯ
มีกุศลเป็นอาหารหรือ ฯลฯ
มีกุศลเป็นอารมณ์หรือ ฯลฯ
มีกุศลเป็นปัจจัยหรือ ฯลฯ
มีกุศลเป็นสมุทัยหรือ ฯลฯ" *
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๘ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๕ ยมกปกรณ์ ภาค ๑ [๑]
เช่นเดียวกันกับ อกุศลธรรม มีกุศลธรรมอยู่หลายอย่าง ดังที่ปรากฏในไพ่ "ธรรมอะไร" ดังต่อไปนี้
สัมมัปปธาน หลักในการรักษากุศลธรรมไม่ให้เสื่อม
การเพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในตน (สังวรปธาน)
การเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน)
การเพียรสร้างกุศลให้เกิดขึ้นในตน (ภาวนาปธาน)
การเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมไป (อนุรักขนาปธาน)
อิทธิบาท เป้าหมายของความเจริญ
ความชอบใจทำ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น (ฉันทะ)
ความแข็งใจทำ เพียรหมั่นประกอบในสิ่งนั้น (วิริยะ)
ความตั้งใจทำ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่ทอดทิ้งธุระ (จิตตะ)
ความเข้าใจทำ การใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลในสิ่งนั้น (วิมังสา)
โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้
มีความระลึกได้ (สติ)
มีความพิจารณาในธรรม (ธัมมวิจยะ)
มีความเพียร (วิริยะ)
มีความอิ่มใจ (ปีติ)
มีความสงบสบายใจ (ปัสสัทธิ)
มีความตั้งมั่น (สมาธิ)
มีความวางเฉย (อุเบกขา)