ธรรมบทและอนุสติ
คาถาธรรมบท
คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ด้วยพระองค์เองในหลากหลายหัวข้อและวาระโอกาส ซึ่งถูกรวบรวมเป็นข้อความที่ร้อยกรองไว้อย่างไพเราะในพระไตรปิฎก ธรรมบทฉบับต้นนั้นอยู่ในหมวด ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก และอีกหลายส่วนของพระไตรปิฎกภาษาบาลี
ทางโครงการได้นำฉบับแปลของท่าน ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต นำมาทำเป็นไพ่ธรรมบท ๓ ภาษา เพื่อเป็นสื่อสอนใจและเครื่องมือในการไกด์ชีวิต
ผู้สนใจสามารถศึกษาธรรมบททุกวรรคได้ในเว็บไซต์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (http://www1.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=category&id=122&Itemid=362)
อนุสติ
คือเครื่องระลึกที่ช่วยหน่วงเหนี่ยวจิตใจไว้ให้อยู่ในทางกุศลและช่วยย้ำเตือนให้เกิดสติ แบ่งออกเป็นสิบลักษณะ ได้แก่
- พุทธานุสสติ การระลึกถึงพระพุทธเจ้า ความตื่นรู้ (พุทธะ) และสิ่งสูงสุดที่เคารพนับถือ
- ธัมมานุสสติ การระลึกถึงพระธรรมและคำสั่งสอนที่ดีงาม
- สังฆานุสสติ การระลึกถึงพระสงฆ์และครูอาจารย์ผู้เคารพนับถือ
- สีลานุสสติ การระลึกถึงศีล ความประพฤติตนดี และคุณงามความดีทั้งหลายที่รักษาไว้
- จาคานุสสติ การระลึกถึงทาน การให้ของตนเองและผู้อื่น
- เทวตานุสสติ การระลึกถึงสภาวะอันประเสริฐ เช่น ชีวิตที่ดีกว่า และผู้บรรลุในเป้าหมายต่างๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้น
- อุปสมานุสติ การระลึกถึงนิพพานและความสงบรำงับจากกิเลส
- มรณสติ การระลึกถึงความตายและความพลัดพรากสูญเสีย
- อานาปานสติ การระลึกถึงลมหายใจเข้าออก
- กายคตาสติ การระลึกถึงความเป็นจริงของร่างกาย
การส่งเสริมอนุสติในชีวิตประจำวันเป็นเหมือนการสวมเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ ช่วยให้ดึงสติกลับมาง่ายเวลามีอารมณ์และความคิดต่างๆ รบกวนใจ หรือเมื่อถลำลงไปตามกิเลสปรุงแต่ง อนุสติก็จะเป็นดังเชือกดึงให้กลับมา
เราสามารถเจริญอนุสติได้ในหลายๆ ทาง เช่นการกำหนดจิตระลึกถึงในใจอย่างมีสมาธิอยู่เป็นประจำ , การติดแปะภาพหรือข้อความที่ดีที่ส่งเสริมอนุสติไว้ให้เห็นอยู่เนืองๆ หรือการใช้ไพ่ธรรมบทเป็นสื่อ
เรียนรู้เพิ่มเติม
หลักสูตร ห้องเรียน-พลังแห่งจิต
www.dhammaliterary.org/ห้องเรียน-พลังแห่งจิต/
คอร์ส เขียนภาวนา
Meditation Writing Course หนึ่งในชุดหลักสูตร เขียนเปลี่ยนชีวิต
www.dhammaliterary.org/เขียนภาวนา/